วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564

ผู้​นำ

 ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ มองกว้าง คิดไกล และใฝ่สูง


...


มองกว้าง คือ ไม่ใช่มองอยู่แค่องค์กรหรือชุมชนของตน แต่มองไปทั่ว ไม่ว่าอะไรที่เกี่ยวข้องมีผลส่งมา หรือมีอิทธิพลกระทบจากภายนอก จากสังคมอื่น จากคนพวกอื่น กลุ่มอื่น จากปัญหาของโลก จากกระแสโลกาภิวัตน์ อะไรต่าง ๆ ก็รู้ทั่วรู้ทัน มองไปทั่วโลกทั้งหมด โลกเวลานี้เป็นอย่างไร มีกระแสไปทางไหน มีปัญหาอะไร มีความต้องการอะไร เราปรับตัวปรับองค์กรของเราให้เข้ากับมันได้ หรือรับมือกับมันได้ มีส่วนร่วมเกื้อหนุนมันได้ หรือช่วยแก้ไขมันได้ มองเห็นโอกาสและช่องทางที่จะดำเนินการตามจุดหมาย อย่างน้อยถ้าไม่นำมันได้ ก็ไม่ให้ถูกครอบงำ หรือไม่ให้ล้าหลัง


คิดไกล หมายความว่า คิดในเชิงเหตุปัจจัย ทั้งสาวไปข้างหลัง และสืบไปข้างหน้า คือ เอาภาวะหรือสถานการณ์ปัจจุบันตั้ง แล้วใช้ปัญญาสืบสาวหาเหตุปัจจัยในอดีต ย้อนยาวไปให้เห็นว่าที่เป็นอย่างนี้ เป็นเพราะอะไรและเป็นมาอย่างไร แล้วก็มองหมายอนาคตว่ามันจะเป็นอย่างไร โยงเหตุปัจจัยที่เป็นมาจากอดีตประสานเข้ากับปัจจุบันแล้วก็ หยั่งเห็นอนาคต สามารถวางแผนเตรียมการเพื่ออนาคตให้บรรลุจุดหมาย


ใฝ่สูง หมายความว่า ใฝ่ปรารถนาจุดหมายที่ดีงามสูงส่ง จุดหมายที่ดีงาม ก็คือความดีงามของชีวิต ความดีงามของสังคม ความเจริญก้าวหน้ามีสันติสุขของมวลมนุษย์ ผู้นำจะต้องมีความปรารถนาในสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่มัวปรารถนาหรือใฝ่ในลาภ ยศ ผลประโยชน์ซึ่งในทางธรรมไม่ถือว่า สูง แต่คนไทยคงเอามาใช้ผิด ความใฝ่สูง กลายเป็นความอยากได้ผลประโยชน์ อยากได้ลาภได้ยศ แล้วเอาไปรวมกับมักใหญ่ กลายเป็นมักใหญ่ใฝ่สูง หมายถึงอยากมั่งมีมหาศาล เป็นใหญ่เป็นโต


ที่จริงนั้น ใฝ่สูงหรือใฝ่ในสิ่งสูงที่แท้จริง ก็คือ ปรารถนาสิ่งที่ดีงาม ประเสริฐ ซึ่งได้แก่ ความดีงามของชีวิต ประโยชน์สุขของสังคม ความเรียบร้อยดีงามของสภาพแวดล้อม ความร่มเย็นเป็นสุขน่าอยู่อาศัยของโลกทั้งหมด การได้อยู่ในโลกที่ดีงามทุกอย่าง อย่างนี้เรียกว่าสูง เราใฝ่ในสิ่งนี้ก็คือ “ใฝ่สูง”



หนังสือ ภาวะผู้นำ

โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พิมพ์ครั้งที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ หน้า ๒๘, ๓๐-๓๑


นาวาชีวิต

 #ชีวิตนี้ดุจนาวากลางมหาสมุทร 🚢


...ชีวิตดั่งเรือน้อยล่องลอยอยู่ 

ต้องต่อสู้แรงลมประสมคลื่น 

ต้องอดทนหวานสู้อมขมสู้กลืน 

ต้องสดชื่นยิ้มได้แม้ภัยมา


#ประพันธ์โดย พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ


#นาวาชีวิต

หากเราเปรียบชีวิตเหมือนเรือหรือนาวา นั่นก็หมายความว่า พวกเราทุกชีวิตกำลังลอยคออยู่ในมหาสมุทรใหญ่ที่สุดในโลก นั่นคือ มหาสมุทรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด (ที่ภาษาพระท่านเรียกว่า วัฏฏะสงสาร) หรือ ถ้าจะมองให้แคบมาหน่อย ชีวิตของพวกเราทุกชีวิตกำลังลอยอยู่ในห้วงน้ำ คือ โลกที่เต็มไปด้วยคลื่น ๘ คลื่น ได้แก่


🔺๑. คลื่น คือ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ความสมหวัง หรือลาภ 

🔺๒. คลื่น คือ การไม่ได้ ไม่มี ไม่เป็น ความผิดหวัง หรือ เสื่อมลาภ 

🔺๓. คลื่น คือ การได้อำนาจ มีชื่อเสียง ได้ตำแหน่งเป็นที่นับหน้าถือตา มีบริวารแวดล้อมมากมาย หรือ ยศ 

🔺๔. คลื่น คือ การหมดอำนาจ เสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่มีตำแหน่ง ไร้บริวารแวดล้อม หรือ เสื่อมยศ 

🔺๕. คลื่น คือ การได้รับคำสรรเสริญเยินยอ การพูดยกย่องจากบุคคลอื่น หรือ สรรเสริญ 

🔺๖. คลื่น คือ การไม่ได้รับคำสรรเสริญใดๆ จากใครเลย มีแต่คนเหยียดหยามดูหมิ่น ด่าว่า หรือ นินทา 

🔺๗. คลื่น คือ ความสุข ความสบาย ไร้กังวลทางจิตใจ 

🔺๘. คลื่นคือ ความทุกข์ใจ โศกเศร้าเสียใจ


     คลื่นทั้ง ๘ คลื่นดังกล่าว ในภาษาพระท่านเรียกว่า "โลกธรรม" หมายถึง สิ่งที่มีอยู่ หรือธรรมที่อยู่ประจำคู่กับโลกใบนี้ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนก็ตาม คลื่นทั้งแปดนั้นก็ยังมีอยู่ตลอดกาล และพวกเราต้องได้ประสบพบเจอแน่นอน ไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่งของการเดินทางในทะเลแห่งวัฏฏะนี้หรือในโลกนี้ตลอดระยะเวลาแห่งอายุขัยของเรา


    สำหรับคนที่เตรียมพร้อมอย่างดีกับการเดินทาง และเตรียมทำใจล่วงหน้า พกพาอุปกรณ์แก้ไขสถานการณ์ไว้อย่างดี ย่อมสามารถรับมือกับคลื่นทุกอย่างได้ และนำพาชีวิตไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดิภาพ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมการไว้ เมื่อถูกคลื่นมาตีกระหนาบหรือกระทบเข้ากับเรือคือชีวิต ชีวิตย่อมซวนเซจะล่มมิล่มแหล่ หรือบางทีก็ล่มจมไปเลยก็มี


     นอกจากคลื่นทั้ง ๘ แล้ว ก็ยังมีเหตุปัจจัยอีก ๒ ประการที่มีอิทธิพลทำให้นาวาชีวิตอาจแตกกระจายหรือจมลงสู่เหวแห่งมหาสมุทรได้ คือ


🔹๑. "รูรั่ว" รูรั่วในชีวิตของคนเรามีอยู่ด้วยกันหลายประการ เป็นต้นว่า เครื่องดื่มของมึนเมา,เพื่อนชั่ว,การชอบเที่ยวยามราตรี,ชอบดูการแสดงที่นั่นที่นี่,การพนัน และความเกียจคร้านในการทำมาหากิน รูรั่วดังกล่าวนั้น ถ้าเราไม่อุดหรือซ่อมตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น ปล่อยไว้นาน แม้จะรั่วเพียงนิดหน่อย แต่เมื่อนานวันเข้า น้ำก็จะเต็มนาวาได้ และเมื่อใดที่น้ำเต็ม เรือก็จะจมลงเมื่อนั้น


🔹๒. "ลม" ลมที่มาพัดให้นาวาคือชีวิตแล่นออกนอกเส้นทางไปสู่ฝั่งที่ตั้งใจไว้ก็คือ "ลมคือแรงแห่งกรรมชั่วหรือการกระทำที่ไม่ดี" ลมประเภทนี้ เป็นลมที่เราไม่ต้องการแต่ก็หลีกเลี่ยงยาก เพราะชีวิตคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ นั้น ยังมีนายผู้ทารุณบงการอยู่เบื้องหลัง นายที่ว่า ก็คือ "ตัณหา" ความอยากที่ไร้ขีดจำกัด ตัณหานี่แหละที่ทำให้พวกเรา เผลอไผล เข้าใจผิดคิดว่า สิ่งที่ตนเองทำนั้นถูกต้องหมดแล้ว ดีแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริง การกระทำบางอย่างอาจไม่ใช่ความดีงามถูกต้องตรงตามธรรมชาติก็ได้ และแล้วผลจากการกระทำที่ไม่ดีงามนั้นก็สะสมพลังไว้ รอโอกาสพัดชีวิตของเราไปตามแรงและทิศทางที่มันต้องการให้ไป


     ดังนั้น ในการนำพานาวาชีวิตให้ไปสู่ฝั่งอย่างปลอดภัย คนเราจำต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อเตรียมรับมือกับ "คลื่นยักษ์" ทั้งแปด พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้เกิด "รูรั่ว" ขึ้นภายในเรือลำนี้ แต่ถ้าหากเกิดรูรั่วขึ้นโดยประมาทพลาดพลั้งลืมยั้งคิด ก็ต้องตั้งสติรีบอุดรูรั่วนั้นเสียทันที ไม่ปล่อยทิ้งไว้จนสายเกินแก้ นอกจากนี้ก็ต้องกางใบให้ดีเพื่อจัดการกับ "ลม" สิบทิศ (บวกทิศเบื้องบนและทิศเบื้องล่างด้วย) ที่เราคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ว่าจะมาจากทิศไหนก่อนและมาอย่างไร แรงหรือเบา เป็นลมแห่งความหวังดีหรือลมแห่งความโชคร้าย


___การบังคับนาวาชีวิตด้วยหางเสือเรือคือ "สติและปัญญา" จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดเวลาและทำอย่างเข้มแข็งที่สุดในขณะที่นาวาชีวิตกำลังแล่นไปสู่จุดหมายปลายทางที่เราตั้งไว้ ไม่เช่นนั้นแล้ว นาวาชีวิตของพวกเรา อาจล่มและจมลงสู่ก้นมหาสมุทรอย่างไม่ต้องสงสัย...



วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2564

ชีวิต​

 ไม่มีชีวิตไหนดีไปหมดทุกอย่าง

ไม่มีชีวิตไหนไม่เคยผิดพลาด


ไม่มีชีวิตไหนล้มแล้วลุกไม่ได้

ไม่มีชีวิตไหนไม่รักตัวเอง


แน่นอนว่าทุกชีวิตมีต้นทุนไม่เท่ากัน

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า


ชีวิตที่ต้นทุนน้อย

จะมีกำไรชีวิตไม่ได้


ชีวิตที่ต้นทุนมาก

จะไม่ขาดทุน


วันไหนทุกข์

ก็ยอมรับในทุกข์


วันไหนสุข

ก็อยู่อย่างสุข


วันไหนเหนื่อย

ไม่ไหวก็พักก่อน


วันไหนมีพลัง

ก็ค่อยสู้ต่อ


ผ่านอะไรมาได้จนถึงตอนนี้

เราเก่งที่สุดแล้ว...


ชีวิตมันก็แบบนี้แหละ


ทุกคนล้วนเคยผิดหวังเสียใจมาแล้วทั้งนั้น

ใช่ว่าจะมีแค่เราซักหน่อย 




วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564

ครู

 

“ครูคือมิ่งมหากัลยาณมิตร

คือเข็มทิศชี้ทางสว่างไสว

คือผู้สร้างปัญญาชนคนต่อไป

กราบหัวใจของคุณครูปูชนีย์”

(ท่าน ว.วชิรเมธี)

ครู​คือใคร

 


ครูคืออะไร 

......

เมื่อถามว่าครูคืออะไร? ก็ต้องเล็งถึงประเทศอินเดีย ที่เป็นต้นตอของวัฒนธรรมนี้ ซึ่งมีอายุหลายพันปีมาแล้ว คนที่เขาเบื่อความเป็นอยู่อย่างซ้ำซากของความเป็นชาวบ้านนี้ เขาคิดว่ามันควรจะมีอะไรดีกว่า ฉะนั้นจะต้องออกไปแสวงหา จึงไปสู่ที่สงัด คือ ป่า ถ้ำ ภูเขา ไกลสังคมออกไปเพื่อแสวงหา

........

ผู้แสวงหา ภาษาบาลีว่า อิสิ หรือภาษาสันสกฤตคือคำว่า ริชจิ ฤษี (ออกเสียงเป็น ริชิ) เหมือนเราใช้คำว่า ฤๅษี ในภาษาไทย ผู้ใดออกแสวงหาความจริง เรียก ฤๅษี ทั้งนั้น ฤๅษีนี้ยังไม่ใช่ครู เพราะว่ายุคแรกยังไม่สอน พบความจริงอะไรบ้างก็ประพันธ์ เป็นคำประพันธ์ ที่เรียกว่า คาถา แล้วตัวเองก็ท่องไว้ มันง่ายกว่าจะท่องเป็นคำร้อยแก้ว ต่อเมื่อมีคนไปพบ ไปติดต่อด้วย ท่านจะบอกคาถานี้ให้บ้าง แต่ไม่ใช่เจตนาจะเป็นครู

.........

.ต่อมาสิ่งที่เรียกว่าคาถานี้ คนก็ได้รับมาในฐานะ ที่เรียกว่ามนต์ ได้รับคาถามาโดยไม่รู้ความหมายอะไรนัก จึงมีผู้ให้คำอธิบายขึ้นมาอีกพวกหนึ่ง เป็นยุคพราหมณะ คืออธิบายคาถา หรือสูตรต่าง ๆ ของพวกฤๅษี นี่ ความรู้จึงค่อย ๆ เกิดขึ้น และมีทุกแขนงวิชา จะเห็นได้ว่า ฤๅษีเป็นต้นกำเนิดของครู แต่ไม่ใช่ครู

.........

ส่วนที่เรียกว่า มุนี ดาบส เป็นเพียงความหมายแขนงหนึ่ง ๆ มุนีแปลว่าผู้รู้ เมื่อฤๅษีเป็นผู้รู้ ฤๅษีก็ได้ชื่อว่ามุนี ดาบส แปลว่า ผู้ทำตะบะ คือทำความเพียรอย่างแรงกล้า เพราะฉะนั้น ฤๅษีก็ได้ชื่อว่า ดาบส 

........

.คำว่า สิทธา และคำว่า นักสิทธิ์ นี้ก็แปลว่า ผู้ประสบความสำเร็จ ฤๅษีพวกนี้ก็เป็นผู้ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า สิทธา

........

ยังมีคำอื่นที่รองลงไปอีกมากมายหลายคำ กระทั่งถึงคำว่า วิทยาธร ซึ่งเป็นคำโบราณ แปลว่าผู้ทรงวิทยา แต่ก็ไม่ใช่ครู พวกวิทยาธรเป็นผีเจ้าชู้ เป็นเทวดาเจ้าชู้มากกว่า ก็ไม่ใช่กำเนิดครู

.......

ต่อมาสิ่งต่าง ๆ เป็นรูปเป็นร่างดีขึ้น จนมีผู้สอน รับแก้ปัญหา คือตอบคำถามในเรื่องนี้โดยตรง เหมือนกับเป็นสถาบันที่รับตอบปัญหาทางด้านจิต ด้านวิญญาณ บุคคลประเภทนี้ คือบุคคลที่เรียกว่า คุรุ หรือ ครู ในภาษาไทย ดิคชันนารีภาษาสันสกฤตที่เป็นมาตรฐานทุกเล่ม จะแปลคำว่าครูนี้ว่า Spiritual guide คือ เป็น GUIDE ในทางวิญญาณ ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีหน้าที่สอนหนังสืออย่างพวกเรา ต่อมาถูกยืมมาใช้ในภาษาไทย จึงเปลี่ยนความหมายเป็นสอนหนังสือ สอนวิชาชีพ; โดยเนื้อแท้ดั้งเดิม เป็นผู้นำในทางวิญญาณ 

.......

คำว่า อุปัชฌาย์ เป็นครูสอนอาชีพ วิชาชีพอะไรก็ได้ เช่นวิชาดนตรีนี้ ผู้สอนสอนดนตรีก็เรียก อุปัชฌาย์ เดี๋ยวนี้พอมาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ก็เลยกลายเป็นพระอุปัชฌายะ ผู้ให้บรรพชาอุปสมบท นั้นเป็นอาชีพของสมณะ

.......

คำว่าครูแปลว่า หนัก อาตมาอยากจะพูดว่า “หนัก” คือมีบุญคุณอยู่เหนือศีรษะคนทุกคน สำหรับคำว่า ครู

.......

ทีนี้มาถึงคำว่า อาจารย์ แปลว่าผู้ช่วยฝึกมรรยาท นี่คือครูสอนจริยศึกษา ต้องมี ผู้เป็นอาจารย์ เพราะเราจะมีแต่ความรู้ความสามารถอย่างอื่น แต่ไม่มี อาจาระ หรือมรรยาทที่ดีนั้น เป็นคนไปไม่ได้; นี้คืออาจารย์สำหรับทำหน้าที่ฝึกมรรยาท

.......

ไกลออกไปถึงคำว่า ศาสดา สัตถา ในภาษาบาลี แปลตามตัวหนังสือว่า “ผู้ให้ซึ่งศาสตร์” คำว่าศาสตร์ นี้แปลว่าอาวุธ อาวุธทางนามธรรมหมายถึงปัญญา พระพุทธเจ้าเป็นบรมศาสดา คือผู้ให้อาวุธ หมายถึงวิชาที่จะตัดกิเลส

........

ที่อาตมาเอามาพูดให้ฟังนี้ ก็เพื่อจะได้ค้นดูที ว่า วิญญาณของความเป็นครูอยู่ที่ไหน คำว่า ครูแท้ ๆ ก็คือ ผู้นำในทางวิญญาณ

ถ้าวิญญาณของเด็กยังไม่สูง ก็ยังขาดครูตามอุดมคติของพระพุทธศาสนา ขอให้นึกถึงคำว่า “ครู” นี้ มีความหมายสำคัญ ๆ อยู่ที่ว่า “ยกสถานะทางวิญญาณให้สูงขึ้น นั่นคือประกอบอยู่ด้วยธรรมะ” แล้วสิ่งที่เป็นอุปัทวะต่าง ๆ ก็ไม่มี ถ้าสิ่งที่เป็นอุปัทวะต่าง ๆ ยังมีอยู่ ก็หมายความว่า เรายังไม่มีธรรมะ ในเรื่องของความเป็นครูที่สมบูรณ์นั่นเอง.


พุทธทาสภิกขุ


ที่มา :หนังสือ ค่ายธรรมบุตร 


ขอบคุณจากเพจ : Kanlayanatam

วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564

พิชิต

 😁 The only thing in life achieved without effort is failure.🌺

👍มีเพียงสิ่งเดียวในชีวิตที่จะสามารถพิชิตได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากมายคือ ความล้มเหลว💕

#KruSomsri



วัน

 วิธีคิด..พิชิตสุข (๑๓ ม.ค. ๖๔)

วันนี้เสนอคำว่า "คุณแห่งวัน - สวรรค์แห่งกาลเวลา"

---------------

*ชาวพุทธ..มีวันที่เนื่องด้วยชีวิต และกิจที่ต้องปฏิบัติอยู่หลายวัน หนึ่งนั้นก็ได้แก่ วันพระ วันธัมมัสสวนะ วันอุโบสถ

*วันเช่นนี้..มีความสำคัญเนื่องด้วยเป็นพุทธบัญญัติ ให้พุทธบริษัท อุบาสิกา อุบาสิกา ได้ตระหนักหันมาใส่ใจ ให้ความสำคัญ กล่าวคือ..

*เป็นวันมงคล - ด้วยเป็นวันที่อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งแปลว่าผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย จะได้มีโอกาสใกล้ชิดสนิทธรรม เป็นผู้คุ้นศีล ชินทาน และเชี่ยวชาญภาวนา

*เป็นวันเพาะ - ด้วยเป็นวันยังกุศลธรรมให้งอกงามขึ้นในจริตอัธยาศัย เป็นวันแต่งกายแต่งใจ ให้งดงามด้วยอัญมณีที่ล้ำค่า ได้แก่ ศีลธรรมจรรยา แต่งกายให้มีระเบียบวินัย แต่งใจให้มีธรรมะ สร้างเกาะคือที่พึ่งอันถาวรให้แก่ตน

*เป็นวันเพิ่ม - ด้วยเป็นวันแห่งการเสริมธรรม - เสริมปัญญา เสริมธรรม..คือเสริมความดี เสริมปัญญา..คือเสริมความรู้ ทั้งความรู้หลัก และความรู้รอบ เป็นวันแห่งการต่อบุญ เติมบุญ เพิ่มพูนคุณภาพชีวิต เรียกว่า เป็นการรักษาบุญดีที่มีมาแต่เดิม แล้วเพิ่มเติมบุญบารมีใหม่ใหม่ให้แก่ชีวิตจิตใจ

*เป็นวันเพชร - เป็นวันที่ล้ำค่า ด้วยเป็นวันธัมมัสสวนะ คือวันแห่งการสดับธรรม ศึกษาธรรม และปฏิบัติธรรม เพิ่มพูนสติปัญญา อันมีค่าประดุจเพชร เพิ่มพูนบารมีธรรม และบารมีกรรม ฝึกหัดขัดเกลาพฤตินิสัย ตรวจสอบวิถีแห่งการดำเนินชีวิต เพื่อนำมาปรุงจิตแต่งใจ แก้ไขในสิ่งที่บกพร่องผิดพลาดในทุกทุกสัปดาห์ จึงเรียกอีกนัยว่า “วันอุโบสถ” กล่าวคือ เป็นวันอยู่จำ หรือกักบริเวณตน เพื่อค้นพบความสะอาด ความสงบ และความสว่าง อันได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา

*แต่ละวันที่กล่าวมา..ทำให้วันเวลาเช่นนี้มีคุณค่า ด้วยเป็นโอกาสแห่งการฝึกหัดขัดเกลาตนให้พ้นจากราคี เสริมสร้างสง่าราศรีให้เกิดมีแก่ตนแก่ตน

*วันเช่นนี้..จึงเป็น “วันพระ” กล่าวคือ วันประเสริฐ เป็นวันพิเศษ เป็นสวรรค์แห่งกาลเวลา ที่ทรงคุณค่ากว่าทุกทุกวัน

*เป็นวันแห่งการพักกาย - พักใจ เป็นวันว่างเว้นจากเวรภัย เว้นจากบาปอกุศล เว้นจากคิดพูดทำในสิ่งที่ไม่ดีงาม แล้วหันมาคิดพูดทำในสิ่งที่ดีงาม อันเรียกว่าสุจริตธรรม ช่วยให้ชีวิตอยู่ก็มีค่า แม้มรณาก็มีคุณ เพราะคุณความดีจักเป็นอนุสาวรีย์แห่งชีวิต ช่วยให้โลกไม่ลืม

*เราท่านทั้งหลาย..จึงควรหันมาเห็นคุณค่าแห่งวันพระ วันธัมมัสสวนะ และวันอุโบสถ ชื่อว่า ทุกคนได้ประจักษ์ใน “คุณแห่งวัน - สวรรค์แห่งกาลเวลา” อย่างแท้จริง !

----------------



ธ.พุทธินันทะ

ผู้​นำ

 ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ มองกว้าง คิดไกล และใฝ่สูง ... มองกว้าง คือ ไม่ใช่มองอยู่แค่องค์กรหรือชุมชนของตน แต่มองไปทั่ว ไม่ว่าอะไรที่เกี่ยวข้องมีผลส่...